ความรู้เป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหา ศึกษาและติดตามอย่างไม่รู้จบ ความคิดที่ปราศจากอคติและความลำเอียงคือสิ่งที่ตกผลึกจากการค้นหา ศึกษาและติดตามจากความรู้ แล้วนำมาถ่ายทอดบอกเล่าต่อผ่านการสื่อสาร

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ข้าว คน คุณภาพชีวิต


ภาพเรือ ยูอี 46 ที่บรรทุกข้าวสารกำลังจม

ภาพความเสียหายที่แพตลาดน้ำวัดท่าการ้อง
ข้าว
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2553 มีเหตุเรือพ่วงบรรทุกข้าวสารชนกับตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ม. 3 ตำบลภูเขาทอง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากตลาดน้ำไปทางทิศเหนือหรือต้นน้ำ 1 กม.จนเสียการบังคับ แล้วถูกกระแสน้ำพัดมาพุ่งชนแพตลาดน้ำของวัดท่าการ้อง ม.6 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้ที่ทราบเบื้องต้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย เรือแม่ค้าจมน้ำกว่า 20 ลำ   แพ เรือและทรัพย์สิน สิ่งของในตลาดน้ำเสียหาย
เรือที่ชนเป็นเรือพ่วงขนาดใหญ่ ชื่อเรือ ยูอี 46 ซึ่งเป็นเรือเหล็กกว้าง 9.5 เมตร ยาว 35 เมตรกำลังเดินทางไปส่งสินค้าที่ท่าเรือเกาะสีชัง จ.ชลบุรี  โดยมีบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เป็นเจ้าของเรือและข้าวสาร หลังเกิดเหตุเรือลำดังกล่าวลอยห่างออกไปจากวัดท่าการ้อง ถึงบริเวณหน้าเจดีย์พระศรีสุริโยทัย ต.ประตูชัย อ.พระนครศรีอยุธยา แล้วค่อยๆจมลงไปพร้อมกับข้าวสาร 30,000 กระสอบ หรือประมาณ 750 ตัน

คน
วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2553
เรือพ่วงบรรทุกข้าวสารชนกับตอม่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทราบเบื้องต้นว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1 รายและมีเรือแม่ค้าจมน้ำกว่า 20 ลำ พระครูสุทธิปัญญาโสภณ กล่าว่า แพและเรือในตลาดน้ำมีการลงทุนไปกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างมากและกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหายที่แท้จริง ด้าน พ.ต.ท.พิชา รุจินาม รอง ผกก.สส.สภ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาทางคดีอาญา กับนายสังข์เวียน คุ้มแก้ว คนขับเรือในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายส่วนทางคดีแพ่งต้องให้ผู้เสียหายแท้จริงเจรจารับชดใช้ค่าเสียหายแต่หากไม่มีการชดใช้ก็สามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้อีกเช่นกัน
วันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2553
นายวิสิทธิ์ วงศ์วิวัฒน์ รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่าได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว พบว่า ข้าวสารเป็นวัตถุดิบแข็งประเภทแป้ง สามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ และมีผลให้ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (DO) ลดลงเล็กน้อย แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูน้ำหลาก อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จึงคาดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปา นายวิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า จากจุดเกิดเหตุคาดว่าน้ำในบริเวณดังกล่าวน่าจะมาถึงจุดรับน้ำดิบของ กปน. บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.) คิดเป็นระยะทาง 52 กิโลเมตร และขณะนี้ กปน. ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ออกติดตามคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิดแล้ว และจะเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการเก็บกู้เรือและข้าวสารได้สำเร็จ ทั้งนี้ กปน. ได้เตรียมเครื่องเติมอากาศและสารเคมีเพื่อเพิ่มค่า DO ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว หากค่า DO ต่ำกว่าปกติ สามารถเดินเครื่องได้ทันที
วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2553
กรมควบคุมมลพิษได้มาดำเนินการตรวจสอบค่าน้ำ
วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2553
นาย วิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยจนท.กรมควบคุมมลพิษ ได้เดินทางไปเพื่อตรวจสอบสภาพของข้าวสารที่อยู่เรือที่จม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าข้าวสารที่อยู่ภายในเรือจำนวน 3 หมื่นกระสอบได้เน่าเสียทั้งหมดแล้ว เกรงว่าจะส่งผลต่อมลภาวะทางน้ำจนทำให้ค่าอ๊อกซิเจนในน้ำเปลี่ยนแปลงจนทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณดังกล่าวเกิดเน่าเสียหายได้
ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เตรียมการที่จะประสานขอความช่วยเหลือจากกองทัพเรือมาทำการกู้ซากเรือที่จม หากทางบริษัทไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ทางกรมควบคุมมลพิษยังได้ทำการตรวจวัดค่าของน้ำทุก 6 ชั่วโมงในทุกวัน เพื่อดูความเปลี่ยนแปลง ส่วนทางสำนักงานขนส่งทางน้ำ สาขาพระนครศรีอยุธยา ได้จัดทำทุ่นลอยเพื่อเตือนเรือลากจูงลำอื่นที่วิ่งผ่าน ซึ่งท้องเรืออาจจะไปกระแทกกับซากเรือที่จมอยู่ในน้ำ
วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2553
น.ท.รัชตะ ผกาฟุ้ง หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำสาขาพระนครศรีอยุธยาเข้าตรวจสอบพื้นที่และกล่าวว่า เรือลำดำกล่าวขณะนี้จมอยู่ในน้ำลึกประมาณ 12 เมตร แต่ยังไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อสภาพแม่น้ำ  อย่างไรก็ตาม การกู้ซากเรือและสินค้าทั้งหมด คาดว่าจะเริ่มลงมือในช่วงบ่ายของวันที่ 9 นี้ เมื่ออุปกรณ์กู้เรือจากกรุงเทพฯ ส่งมาถึง อันดับแรกต้องขนข้าวสารที่จมอยู่ในน้ำขึ้นมาก่อน คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ  10 วัน     จากนั้นจึงจะกู้ซากเรือขึ้นมาได้ โดยจะไม่มีการปิดเส้นทางจราจรสัญจรทางน้ำในพื้นที่
วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม 2553
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร รมช.คมนาคม พร้อมด้วยนายชลอ คชรัตน์ อธิบดีกรมเจ้าท่า เดินทางมาดูการกู้เรือบรรทุกข้าวสาร ที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เจ้าของเรือและข้าวสาร ได้ว่าจ้าง หจก.ทีพี ประดาน้ำและขนส่ง กู้ข้าวสารและเรือที่จมอยู่ใต้น้ำ โดยนำเรือโป๊ะขนาดใหญ่ติดตั้งเครนและอุปกรณ์การกู้เรือมาลอยลำเหนือจุดที่เรือบรรทุกข้าวสารจม โดยนายเกื้อกูล กล่าวว่า คุณภาพน้ำที่ตรวจทุกๆ 6 ช.ม.นั้น ยังไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากเป็นช่วงนำกระสอบข้าวขึ้นจากน้ำแนะนำว่าควรตรวจทุก 3 ช.ม. อย่างไรก็ตามเป็นห่วงว่าข้าวสารที่เริ่มเน่าจะแตกออกจากกระสอบได้ จึงอยากให้เร่งดำเนินการเร็วที่สุด
นายประกิต กิจอุดมทรัพย์ นายช่างควบคุมงานของ หจก.ทีพี ประดาน้ำและขนส่ง กล่าวว่า ประเมินโดยรวมถือว่าเป็นงานที่ยากและลำบาก ต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน โดย 7 วันแรกเป็นการกู้ข้าวสาร และ 7 วันหลังเป็นการกู้เรือ แต่จะพยายามเร่งทำงานให้เวลาน้อยกว่านี้ โดยใช้นักประดาน้ำรวม 30 คนดำน้ำลงไปนำกระสอบวางในตะกร้าใหญ่ซึ่งเครนจะหย่อนลงไปรับข้าวสารจากท้องเรือขึ้นมา โดยกระสอบข้าวสารน้ำหนัก 25 กก. เมื่อจมน้ำจะมีน้ำหนักมากขึ้นถึง    50 กก.
ดร.อนุพันธ์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวถึงกรณีข้าวสารจมน้ำที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า จากกรณีที่มีข้าวสารจำนวน 750 ตันจมน้ำ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ค่อยน่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากมีปัจจัยที่เอื้ออำนวย ต่อสภาพแวดล้อม หรือคุณภาพน้ำ ทำให้ปัญหาดังกล่าว ไม่รุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นในด้านของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือในเรื่องของการบรรจุข้าวในกระสอบที่หนาแน่นและไม่ฉีกขาดง่าย ทำให้ข้าวกระจายลงในแม่น้ำได้น้อย เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ข้าวที่อยู่ในน้ำนาน ถึงแม้จะเน่าเสีย แต่ก็ไม่สามารถกระจายออกมาได้ เพราะฉะนั้นปัญหาที่จะส่งผลต่อคุณภาพน้ำ ไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าไม่รีบทำการขนกระสอบข้าวขึ้นโดยเร็ว ปัญหาอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ในขณะนี้ได้มีการเริ่มเก็บขนกระสอบข้าวขึ้นจากน้ำแล้ว เชื่อว่าเมื่อเอากระสอบข้าวขึ้นครบปัญหาต่างๆ จะหมดไป
การกู้ข้าวสารและซากเรือพ่วงบรรทุกซึ่งจมลงในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีเรือตรวจการของเจ้าท่าและหน่วยกู้ภัยสมาคมอยุธยารวมใจอีก 3 ลำ คอยอำนวยความสะดวก โดยวันนี้สามารถยกข้าวสารชุดแรกขึ้นมาได้ จำนวน 50 กระสอบ ปรากฏว่าสภาพกระสอบยังสมบูรณ์  

คุณภาพชีวิต
ห่วงโซ่ข้อที่ 1 ข้าวสารที่จมน้ำทั้งหมดเมื่อถูกนำขึ้นจากน้ำแล้วก็ต้องมีการดำเนินการตามหลักการและข้อกำหนดของบริษัทประกันภัยที่บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด เจ้าของเรือและข้าวสารได้ทำประกันไว้ และในระหว่างที่รอการดำเนินการดังกล่าวข้าวสารที่จมน้ำทั้งหมดจะต้องมีการรักษาสภาพด้วยสารเคมีซึ่งยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร และกระบวนการดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด
ห่วงโซ่ข้อที่ 2  บริษัทประกันภัยคงต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับข้าวสารที่เน่าเสียหลังจากที่ได้จ่ายเงินกับผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ซึ่งอาจทำลายทิ้ง (คงไม่ทำมั้ง) หรือนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เพื่อถอนทุนคืนบ้าง (น่าสนใจ) และถ้าบริษัทประกันภัยทำตามแนวทางที่สองก็จะไปสู่ห่วงโซ่ข้อที่3
ห่วงโซ่ข้อที่ 3  บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสัตว์ที่ทำการประมูลซากสินค้าข้าวสารที่จมน้ำได้ก็จะรับสินค้าทั้งหมดจากบริษัทประกันภัยที่ทำการเปิดประมูล แล้วนำไปทำการแปรรูป ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะใช้กรรมวิธีอย่างไร และใช้สารเคมีอะไรบ้าง เมื่อแปรรูปเสร็จเรียบร้อยก็จะนำออกจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะนำสินค้าไปใช้กับสัตว์เลี้ยงของตน ทั้งที่อาจจะเลี้ยงเพื่อการค้า และ/หรือเลี้ยงเพื่อความสวยงาม และ/หรือเพื่อการส่งออก  และ/หรือเลี้ยงเพื่อนำไปเป็นอาหาร ซึ่งจะไปสู่ห่วงโซ่ข้อที่ 4
ห่วงโซ่ข้อที่ 4     ผู้บริโภคที่อยู่ในห่วงโซ่ข้อที่ 4 จะสามารถแน่ใจได้อย่างไรว่าอาหารที่ตนรับประทานเข้าไปนั้นมีความปลอดภัย จะมีการตรวจสอบย้อนกลับเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารกันอย่างไร ในกรณีที่มีการนำส่งสินค้าหรือซากสัตว์ที่กินอาหารจากสินค้าดังกล่าวไปยังต่างประเทศและคู่ค้าในต่างประเทศทำการตรวจสอบย้อนกลับพบว่าสินค้าหรือซากสัตว์ที่ได้รับนั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดจะทำอย่างไร ใครบ้างในภาครัฐจะเข้ามากำกับดูแล สิ่งต่างๆเหล่านี้ยังคงไม่มีการแถลงหรือประกาศให้ทราบอย่างชัดเจนจากภาครัฐ จนถึงวันที่เขียนข้อความนี้

ความคิดเห็นของผู้เขียน
  1. หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อการสืบสวนหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและเปิดเผยต่อสาธารณชน
  2. หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดให้ชัดเจนถึงลักษณะและคุณสมบัติของเรือบรรทุกสินค้า ผู้ควบคุมเรือ น้ำหนักบรรทุกหรือลากจูง ความเร็วที่ใช้ในการเคลื่อนที่ มาตรฐานของอุปกรณ์ประกอบที่ใช้ในการขนส่งและลากจูงรวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสินค้าที่สามารถป้องกันการละลายหรือเจือปนกับน้ำได้เมื่อสินค้านั้นตกลงในน้ำ และหากมีข้อกำหนดที่ตราเป็นกฎหมายหรือข้อบังคับไว้ชัดเจนไว้แล้ว ผู้รับผิดชอบทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรออกมาแถลงชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงความผิดพลาด บกพร่อง และการป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
  3. หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดเป็นหลักการบริหารจัดการความเสี่ยงในการบรรทุกสินค้าทางบก เรือ อากาศและการจัดการเหตุวิกฤติ ทั้งวิธีการ ขั้นตอน อุปกรณ์ เครื่องมือ ระยะเวลา และผู้รับผิดชอบในด้านต่างๆทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน
  4. หน่วยงานที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องควรจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดหลักการบริหารจัดการสินค้าที่เสียหายนั้น ว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ใครเป็นผู้รับผิดชอบ กำกับดูแล และตรวจสอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนให้ชัดเจน
ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลเบื้องต้นจาก :
สมาคมโรงสีข้าวไทย          สำนักข่าวไทย                 นสพ. ข่าวสด         
นสพ. โพสต์ทูเดย์               นสพ. ผู้จัดการ                 นสพ. แนวหน้า                                  
สมานชัยท่าทรายเวปบอร์ด                         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น