ความรู้เป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหา ศึกษาและติดตามอย่างไม่รู้จบ ความคิดที่ปราศจากอคติและความลำเอียงคือสิ่งที่ตกผลึกจากการค้นหา ศึกษาและติดตามจากความรู้ แล้วนำมาถ่ายทอดบอกเล่าต่อผ่านการสื่อสาร

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทางสายกลาง

เรามักได้ยินคนพูดอยู่เสมอๆ ว่าทำอะไร ให้ทำแต่เพียงพอดีอย่าให้มันสุดโด่งหรือสุดโต่งเกินไปนัก หรือบางคนอาจพูดว่าให้เดินทางสายกลาง ไม่ไปทางซ้ายหรือทางขวามากเกินไป คำพูดต่างๆเหล่านี้บางคนก็พูดต่อๆตามกันมา บางคนก็คิดว่าสิ่งที่ตนพูดออกไปนั้นเหมาะสมถูกต้องแล้ว เพราะทำอะไรในลักษณะกลางๆน่าจะไม่ทำให้เสียหายมาก (และถ้าได้ผลลัพธ์ที่ดีก็อาจจะได้ไม่มากเช่นเดียวกัน) บางคนก็อาจจะอ้างอิงไปถึงการขึงสายพิณว่าถ้าขึงตึงเกินไปก็จะขาด ถ้าขึงหย่อนไปก็ไม่สามารถเล่นพิณนั้นได้ อันเป็นนิมิตที่เกิดแก่พระพุทธองค์ก่อนที่จะออกจากการบำเพ็ญทุกรกิริยาและตรัสรู้ในลำดับต่อมา
                สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ประการคือ
๑.    ทุกข์       ได้แก่ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจต่างๆ
๒.    สมุทัย     คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
๓.    นิโรธ     คือการดับทุกข์ให้หมดสิ้นไป
๔.    มรรค      คือข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงการดับทุกข์ มีอยู่ด้วยกัน ๘ ประการหรือเรามักพูดกันติดปากว่า มรรคมีองค์ ๘
มรรคมีองค์ ๘
มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย
๑.     สัมมาทิฏฐิ    ความเห็นชอบ คือมีความเห็นว่า การเกิด การแก่ การเจ็บและการตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ การประสบสิ่งที่ไม่สมหวัง สิ่งที่ไม่รัก ไม่ต้องการก็เป็นทุกข์ ดังนั้นตราบใดที่ยังยังไม่สามารถควบคุมบังคับความคิดของตนเองให้อยู่เหนือความคิดดีและชั่วไม่ได้ หรือปัดความคิดที่ไม่ดีออกไปจากตัวทันทีไม่ได้ ย่อมต้องเป็นทุกข์เสมอ
๒.    สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือคิดที่จะกำจัดความโกรธ ความเกลียด ความชัง ความพยาบาท ความอาฆาตให้หมดไปจากตน และไม่คิดที่จะเอาเปรียบหรือเบียดเบียนใคร 
๓.    สัมมาวาจา วาจาชอบ มีความหมาย ๔ อย่างคือ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ 
๔.    สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ มีความหมาย ๓ อย่างคือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๕.    สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ หมายถึงการประกอบอาชีพในทางสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ประกอบอาชีพที่เหมาะแก่ภาวะหรือฐานะของตน ไม่ทำอะไรให้ผิดไปจากหน้าที่ของตนในทางที่ทำให้ตนเสื่อมเสีย หรือไม่ใช้อำนาจหน้าที่ที่ตนมีในการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบให้กับตนเองและพวกพ้อง
๖.    สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือการพยายามละการกระทำความชั่ว หรืออกุศลธรรม และเมื่อละได้แล้วก็พยายามอย่าให้เกิดมีขึ้นอีก นอกจากนี้ยังต้องพยายามสร้างความดี หรือกุศลธรรมให้เกิดขึ้น และที่สร้างแล้ว ทำให้เกิดขึ้นแล้วก็หมั่นพยายามทำให้ดีและเจริญงอกงามยิ่งๆขึ้นไปอีก   
๗.     สัมมาสติ ระลึกชอบ คือพยายามให้มีสติอยู่กับตัวเสมอและพยายามฝึกตนเองให้กิเลสที่มีอยู่น้อยลงและหมั่นพยายามฝึกฝนบังคับควบคุมอย่าให้เกิดมีขึ้นมาใหม่อีก ผู้ที่มีสัมมาสติคือผู้ที่ปฏิบัติอยู่ในสติปัฏฐาน ๔ ประกอบด้วย
§       กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติระลึกรู้กายเป็นฐาน ไม่มองกายด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา แต่มองแยกเป็นรูปธรรม อย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ กายล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
§       เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติระลึกรู้เวทนาเป็นฐาน ไม่มองเวทนาด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขาไม่มองว่าเรา เขากำลังทุกข์ กำลังสุข แต่มองแยกเป็นนามธรรม ย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ เวทนาล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
§       จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติระลึกรู้จิตเป็นฐานไม่มองจิตด้วยความเป็นคน สัตว์ เรา เขา คือไม่มองว่าเรา เขากำลังคิด กำลังโกรธ หรือกำลังเหม่อลอย แต่มองแยกเป็นนามธรรม อย่างหนึ่ง เห็นความเกิดดับ จิตล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
§       ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติระลึกรู้สภาวะธรรมเป็นฐาน คือทั้งรูปธรรมและนามธรรมล้วนมีความเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
๘.    สัมมาสมาธิ สมาธิชอบหรือตั้งใจมั่นชอบ หมายถึงการเข้าสมาธิที่เป็นไปเพื่อการละนิวรณ์โดยตรง หรือ ฌาน ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปนั่นเอง

หากจะจัดมรรคทั้ง ๘ ให้เป็นกลุ่มเพื่อสร้างให้เกิดปัญญายิ่งขึ้น ก็อาจจัดได้ดังนี้

กลุ่มปัญญา ประกอบด้วย
สัมมาทิฏฐิ                    ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ             ความดำริชอบ

กลุ่มศีล ประกอบด้วย
สัมมาวาจา                    วาจาชอบ
สัมมากัมมันตะ            กระทำชอบ
สัมมาอาชีวะ                 เลี้ยงชีวิตชอบ

กลุ่มสมาธิ ประกอบด้วย
สัมมาวายามะ              ความเพียรชอบ
สัมมาสติ                       ระลึกชอบ
สัมมาสมาธิ                  สมาธิชอบหรือตั้งใจมั่นชอบ

หากเราสามารถปฏิบัติได้ตามมรรคมีองค์ ๘ นี้ ย่อมถือได้ว่าปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง อันจะนำไปสู่การดับทุกข์ และเมื่อผนวกกับการหมั่นทำบุญ ทำกุศล และทำทานสร้างบุญบารมีให้บังเกิดมีแก่ตัวท่านแล้วย่อมนำท่าน ครอบครัวและญาติมิตรไปสู่ความสุข และความสงบ อันหาที่เปรียบไม่ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น