ความรู้เป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหา ศึกษาและติดตามอย่างไม่รู้จบ ความคิดที่ปราศจากอคติและความลำเอียงคือสิ่งที่ตกผลึกจากการค้นหา ศึกษาและติดตามจากความรู้ แล้วนำมาถ่ายทอดบอกเล่าต่อผ่านการสื่อสาร

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กาลามสูตร หรือ เกสปุตตะสูตร ?

        ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์โดยใช้กลยุทธ์ในทุกๆด้านและทุกๆเครื่องมือในการสื่อสาร เพื่อโน้มน้าวและชักนำให้เกิดการคล้อยตามและยอมรับในความคิดเห็น วิธีการ และการตัดสินใจของตนหรือของกลุ่มของตน เราจึงได้ยินคำว่า กาลามสูตร และ เกสปุตตะสูตร เพิ่มมากขึ้น โดยผู้พูดที่คิดว่าตนเองเป็นผู้รู้ทั้งหลายต่างกล่าวอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแก่ชาวนิคมเกสปุตตะ แคว้นกาลมะ ห้ามมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง และคิดว่าผู้ที่อยู่ในความไม่หลงงมงายควรปฏิบัติตาม กล่าวคือ
อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา
อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆ กันมา
อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่า ได้ยินว่าอย่างนี้
อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา
อย่าได้เชื่อถือโดยเดาเอาเอง
อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน
อย่าได้ยึดถือโดยความตรึกตามอาการ
อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฏฐิของตน
อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรเชื่อได้
อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้ เป็นครูของเรา 
        มีบางท่านให้ข้อคิดเห็นว่า เมื่อมีผู้ใช้คำว่า กาลามสูตร อาจอ้างอิงถึง พุทธวจนะที่ตรัสแสดงธรรมแก่ชาวนิคมเกสปุตตะ แคว้นกาลามะ เนื่องด้วยมีนักบวชและพราหมณ์ต่างๆ เดินทางมาที่นั่น และต่างพากันยกย่องความคิด ความเชื่อหรือคำสอนของตนว่าถูก และพูดกระทบกระเทียบ ดูหมิ่น ความคิด ความเชื่อหรือคำสอนของผู้อื่นๆ จึงมีผู้ทูลถามพระพุทธองค์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่าไม่ให้ยึดถือ ๑๐ อย่าง
        บางท่านก็ให้ข้อคิดเห็นว่า เมื่อมีผู้ใช้คำว่าเกสปุตตะสูตรอาจอ้างอิงถึง การที่พระพุทธเจ้าไปเทศน์โปรดพวกชาวเกสปุตตะนิคม แคว้นกาลามะ ที่เข้ามาสอบถามว่าจะเชื่อใครดี อาจารย์คนหนึ่งมาก็ว่าคำสอนของตนเองดี แล้วพูดกระทบ กระทั่ง ดูหมิ่นคำสอนของอาจารย์อื่นๆว่าไม่ดีเหมือนของตน พระพุทธองค์จึงตรัสห้ามมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง และ ตรัสสอนถึงโทษของความโลภ โทษของความโกรธ และโทษของความหลง
        อันที่จริงแล้ว พระสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรค มีการกล่าวถึง เกสปุตตสูตร (กาลามสูตร) ว่าด้วย ข้อห้ามมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง ในพระไตรปีฎกภาษาไทย ฉบับหลวง พ.ศ. ๒๕๒๕ เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๐๕ หน้า ๑๗๙ ๑๘๔ ก็ได้การกล่าวถึงไว้การที่พระพุทธเจ้าไปเทศน์โปรดพวกชาวเกสปุตตะนิคม แคว้นกาลามะ ที่เข้ามาสอบถามว่าจะเชื่อใครดี อาจารย์คนหนึ่งมาก็ว่าคำสอนของตนเองดี แล้วพูดกระทบ กระทั่งดูหมิ่นคำสอนของอาจารย์อื่นๆว่าไม่ดีเหมือนของตน  พระพุทธองค์จึงตรัสสอนถึงว่าด้วย ข้อห้ามมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง และโทษของความโลภ โทษของความโกรธ โทษของความหลง และประโยชน์ของความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ว่าธรรมเหล่านี้เป็นกุศล สมาทานให้บริบูรณ์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุข ปราศจากความโลภ ปราศจากความโกรธ ปราศจากความหลงแล้วอย่างนี้ จึงมีมีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้ มีจิตใจไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ ๔ ประการ เมื่อชาวเกสปุตตะนิคมได้ฟังคำสั่งสอนจึงเกิดศรัทธาและปวารณาตัวเป็นอุบาสกไปจนตลอดชีวิตโดยทั่วกัน
ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปอ่านโดยละเอียดได้ที่

ผู้เขียนมีความเห็นว่า :
ไม่ว่าใครจะเรียกข้อห้ามมิให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่างและประโยชน์ของความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ว่าอย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนมีประโยชน์แก่ผู้นำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติทั้งสิ้น
เพียงแต่ว่าจะมีผู้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและสังคมหรือไม่ เพราะมนุษย์ก็ยังเป็นแค่ปุถุชนเท่านั้น..และที่สำคัญ..ต้องไม่เป็นการอ้างอิงพุทธวจนะบางส่วนเพื่อเป็นการทำลายความเชื่อถือ ความรักและความไว้วางใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลเบื้องต้นจาก : http://www.navy.mi.th/newwww/code/special/budham/tp/tp200366.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น