ความรู้เป็นสิ่งที่ชวนให้ค้นหา ศึกษาและติดตามอย่างไม่รู้จบ ความคิดที่ปราศจากอคติและความลำเอียงคือสิ่งที่ตกผลึกจากการค้นหา ศึกษาและติดตามจากความรู้ แล้วนำมาถ่ายทอดบอกเล่าต่อผ่านการสื่อสาร

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปุญญ

ปัจจุบันสังคมและการใช้ชีวิตของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้บางครั้งบางคนมักชอบอ้างว่าไม่มีเวลาในการทำบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองไม่สะดวกที่จะทำหรือคิดว่าทำได้ลำบากเพราะเหตุผลต่างๆนาๆ วันนี้ผู้เขียนค้นเอกสารเก่าๆ พบบทความที่เคยบันทึกเก็บไว้น่าสนใจ จึงคิดที่จะนำมาถ่ายทอดต่อเพื่อให้ผู้อ่านรับทราบและหากสนใจก็สามารถนำไปปฏิบัติกันได้โดยไม่ยากและไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเดินทาง หรือใช้ทรัพย์สินสิ่งของที่มากมาย ลองพิจารณาดูเผื่อว่าท่านอาจจะนำไปใช้หากเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตัวท่านและบุคคลที่ท่านรัก
บุญ หรือ ปุญญ แปลว่า ชำระ หมายถึงการทำให้หมดจดปราศจากมลทินและเครื่องเศร้าหมองอันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ และจะถือว่าเป็นบุญมากยิ่งขึ้นหากการทำบุญนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย
วิธีการทำบุญในพุทธศาสนาทำได้หลายวิธี สรุปได้ง่ายๆเป็น ๑๐ วิธีหรือที่เรียกกันว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ
  1. การบริจาคสิ่งของและทรัพย์สินเงินทอง  เรียกว่า   ทาน หรือการให้ (จาคะ) แต่หากให้มหรสพ สุรา สิ่งเพื่อกามคุณหรือการให้ทานแก่น้องโคฯ ไม่นับว่าเป็นทาน...รู้นะคิดอะไรอยู่!
  2. การควบคุมความประพฤติไม่ให้ละเมิดผู้อื่นหรือการรักษาความสำรวมทางกาย วาจา เรียกว่า ศีล ซึ่งการรักษาศีลสำหรับฆราวาส ประกอบด้วยศีล๕ (มี ๕ ข้อ) และอุโบสถศีล (มี ๘ ข้อ)
  3. การฝึกและอบรมจิตใจให้สงบและเกิดปัญญา เรียกว่า   ภาวนา ซึ่งประกอบด้วย การอบรมจิตทางสมถะโดยการนั่งสมาธิเรียกว่าสมถะภาวนา และการอบรมจิตทางวิปัสสนาโดยการนั่งวิปัสสนา เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา
  4. การขวนขวายในกิจที่ควรกระทำหรือการสละแรงกายช่วยเหลือผู้อื่นส่วนรวม  เรียกว่า   ไวยาวัจจะ
  5. ความเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตน  เรียกว่า   อปจายนะ
  6. ความยินดีในการทำดีของผู้อื่นหรือการยินดีในบุญที่ผู้อื่นถึงพร้อมแล้ว  เรียกว่า   ปัตตานุโมทนา
  7. การเผื่อแผ่ความดี ให้ผู้อื่นได้มีส่วนร่วมหรือได้รับส่วนบุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น  เรียกว่า   ปัตติทาน เช่น การอุทิศส่วนกุศล การกรวดน้ำ
  8. การฟังธรรมและศึกษาข้อคิดที่ดีงาม  เรียกว่า   ธัมมัสสวนะ
  9. การให้ธรรมะและข้อคิดที่ดีงามแก่ผู้อื่น  เรียกว่า   ธัมมเทศนา
  10. การนึกคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม  เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม
เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าการทำบุญสามารถทำได้ทุกเวลาการหายใจเข้าออก ทุกสถานที่ และมีทั้งใช้ทรัพย์สิน เงินทอง และไม่ต้องใช้ เพียงแต่ต้องมี จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด กิริยา วาจา และการกระทำที่แสดงออกเท่านั้นก็ทำบุญได้แล้ว
หรือท่านมีความความคิดเห็นอื่นใด....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น